LEAN ลดต้นทุนธุรกิจ งานเสร็จไว กำไรพุ่ง
LEAN ลดต้นทุนธุรกิจ งานเสร็จไว กำไรพุ่ง
ในปี 2559 ผมตั้งใจว่าจะมีหนังสือสักเล่มที่บอกเล่าเรื่องราว การจัดการระบบแบบลีนในบริบทขององค์กรในประเทศไทย โดยนำองค์ความรู้จากต้นกำเนิด โตโยต้า (ผู้ผลิตรถยนต์ที่มียอดขายอันดับ 1 ของโลกในปัจจุบัน) และจากฝากตะวันตก คือ สหรัฐอเมริกา โดยสถาบันวิสาหกิจลีน (Lean Enterprise Institute: LEI) ซึ่งเป็นทีมงานจาก MIT (สถาบันการศึกษาระดับต้นๆ ของโลกด้านการจัดการ) ที่เข้าไปศึกษาที่โตโยต้า นำทีมโดย James P. Wormack และคณะ (ซึ่ง หนังสือแนวคิดแบบลีน (Lean Thinking) ถูกแปลเป็นภาษาไทยโดย ดร.วิทยา สุหฤทดำรง (อาจารย์ของผมเอง))
ลีน (LEAN) คืออะไร
LEAN (ลีน) คือ การจัดการที่เน้นการสร้างคุณค่า (คุณค่าในมุมมองผู้บริโภคที่จ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการ) และขจัดความสูญเป่าออกไปจากสายธารคุณค่า โดยการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องไม่มีหยุดยั่ง แนวคิดแบบลีนนี้แหละที่ทำให้ SMEs ในประเทศญี่ปุ่นมีประสิทธิภาพในการแข่งขันสูงติดอันดับโลก (World Class) ดังที่ ไทอิจิ โอโน (Taiichi Ohno) อดีตผู้อำนวยการผลิตของโตโยต้า เคยกล่าวไว้ว่า “การพิจารณาช่วงเวลาตั้งแต่ที่ลูกค้าสั่งซื้อสินค้าของเรา จัดหาวัสดุ นำมาผลิต ส่งมอบสินค้าให้ลูกค้า จนถึงเมื่อรับเงินจากลูกค้า และเราจะลดช่วงเวลานั้นให้สั้นลงได้โดยการกำจัดความสูญเปล่าได้อย่างไร”
ความสูญเปล่าจึงเป็นตัวเหนี่ยวรั้งองค์กรไม่ให้ก้าวไปข้างหน้า เกิดจากสภาวะที่สร้างความสูญเปล่ามาก (เสมือนคนอ้วนที่มีไขมันมากทำให้อุ้ยอ้าย วิ่งแข่งก็เพื่อนในธุรกิจไม่ทัน) ส่งผลโดยตรงกับการดำเนินงาน และความสามารถในการสร้างกำไรให้กับ SMEs การนำแนวคิดลีนมาใช้ในการบริหารจัดการจะช่วยทำให้องค์กรลดต้นทุนธุรกิจ งานเสร็จไว กำไรพุ่ง
ความสูญเปล่า 8 ประการ (8 Wastes) คืออะไร
แนวคิดแบบลีน (Lean Thinking) จะเน้นการขจัดความสูญเปล่า (Wastes) ทั้ง 8 ประการ โดย เจฟฟรีย์ ไลเคอร์ (Jeffrey Liker) ได้นำเสนอไว้ในหนังสือวิถีแห่งโตโยต้า (The Toyota way) อาจารย์ของผมได้แปลไว้อีกเหมือนกันที่)
1. งานที่ต้องแก้ไข (Defect) 2. การผลิตสินค้ามากเกินความต้องการ (Overproduction) 3. การรอคอย (Waiting) 4. ความคิดสร้างสรรค์ของทีมงานที่ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ (Non-utilized Talent) 5. การขนย้ายบ่อยๆ (Transportation) 6. สินค้าคงคลังมากเกินไป (Inventory) 7. การเคลื่อนไหวที่ไม่จำเป็น (Motion) และ 8. ขั้นตอนซ้ำซ้อนไม่ถูกต้อง (Excess Processing) หรือจำได้ง่ายๆ โดยการนำตัวอักษรภาษาอังกฤษตัวแรกมาเรียงกัน ได้เป็น “Downtime” หรือ เวลาที่เสียเปล่า ไม่ได้เกิดการสร้างคุณค่าใดๆ
ทำไมระบบลีนถึงสำคัญกับ Startup และ SMEs (Why is organization must Lean)
เนื่องจากหลายๆ คนเชื่อว่า บริษัทใหญ่ๆ ได้นำระบบลีนมาใช้มากกว่า 10 ปีแล้ว แต่ระบบนี้คงไม่เหมาะกับ Startup และ SMEs แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันกลับตรงกันข้าม ระบบลีนสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้เป็นอย่างดี ยิ่งเป็น Startup และ SMEs ยิ่งต้องลีน ระบบลีนดังกล่าวมองลูกค้าเป็นจุดตั้งต้น ผสมผสานการออกแบบหน้างาน เพื่อผลิตสินค้าหรือบริการในปริมาณน้อยๆ และมีความหลากหลายมาก ระบบนี้จะมีความยืดหยุ่นสูง และปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับลูกค้าหรือตลาดได้ง่าย เพราะระบบนี้เน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง และง่ายยิ่งกว่าระบบแบบเดิมๆ เพราะมีความปราดเปรียวมากกว่า
แปลงสภาพวัฒนธรรมองค์กร (Transform to Lean Culture)
ไม่ว่าจะเป็นองค์กรที่กำลังย่ำแย่ หรือองค์กรที่กำลังเจริญรุ่งโรจน์ ในสภาพแวดล้อมการแข่งขันที่ทวีความรุนแรง และเปลี่ยนแปลงแบบคาดการณ์ไม่ได้ สิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้องค์กรอยู่รอด คือ การเปลี่ยนแปลง แม้ว่าพนักงานเกือบทุกคนไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ยิ่งอยู่นานๆ ยิ่งยากที่จะเปลี่ยน เมื่อมีความคิดใหม่ๆ ก็มักเพียงแต่จะคิด คิด และคิด แต่ไม่ลงมือทำทันที ก็ไม่เกิดประโยชน์อันใดขึ้นเลย
การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรใดๆ โดยเฉพาะในระบบลีน ต้องเริ่มจากผู้บริหารระดับสูง (C-level) หรือเจ้าของก่อน ต้องมีความมุ่งมั่น มีภาวะผู้นำ มีความเชื่อมั่นและศรัทธาในระบบลีน อาจจะผ่านการศึกษาดูงานจากองค์กรอื่นๆ ที่ประสบความสำเร็จ ลองยกตัวอย่างกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จ (Success Case) มาเล่าให้ทีมงานเห็นภาพที่ตรงกัน หรือยกทีมพากันไปดูงานด้วยกัน ทำให้เกิดไฟและแรงบันดาลใจในการปรับเปลี่ยนองค์กรของตนขึ้นมา
ทิศทางเป็นเรื่องสำคัญที่สุด
การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมจึงเป็นการส่งผ่านความพยายาม ที่มุ่งมั่นในกระบวนการพัฒนาองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้า การปรับปรุงสิ่งเล็กๆ แต่เป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ ส่งผลโดยตรงต่อความอยู่รอดของ Startup และ SMEs โอกาสในการเปลี่ยนแปลงองค์กรจากการคิดคนเดียว (Silo Thinking) สู่การคิดแบบองค์รวม (Holistic Thinking) ทุกๆ หน่วยงานมาร่วมไม้ร่วมมือกันในการผลักดันองค์กรไปข้างหน้า มีเป้าหมายเดียวและไปในทิศทางเดียวกัน จะไม่มีวันหลงทาง
ทิศทางเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะเป็นตัวกำหนดวิธีในการดำเนินการปฏิบัติในแต่ละส่วน ให้สมดุลและสอดคล้องกันอย่างเป็นระบบระเบียบ โดยเฉพาะเจาะจงไปที่การปรับทัศนคติ (Mindset) การก้าวถอยกลับออกมาภายนอกองค์กร เพื่อให้มองเห็นภาพรวมที่ใหญ่กว่า มองป่าทั้งป่า มิใช่เพียงต้นไม้ต้นเดียว และแบ่งเบาสิ่งที่ทุกคนต้องรับผิดชอบ เพื่อก้าวต่อไปข้างหน้า
สามารถสั่งซื้อหนังสือ LEAN ลดต้นทุนธุรกิจ งานเสร็จไว กำไรพุ่ง
และเข้าไปพูดคุยเรื่องการจัดการแบบลีนได้ที่ www.facebook.com/groups/LEANTalk